มหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดให้มีการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้น  และสนับสนุนการทำงานสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดการพัฒนาด้านศิลปะให้แก่ศิลปิน จึงได้จัดให้มีการขยายโครงการให้กว้างขวาง และเผยแพร่ทั่วประเทศ ครั้งนี้เป็นการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 39 โดยมีระเบียบการดังต่อไปนี้

1. ประเภทและขนาดของผลงานศิลปกรรม
 ผลงานสร้างสรรค์ทางทัศนศิลป์ที่มีความคิดและเทคนิคอิสระ  โดยผลงานศิลปกรรมทุกประเภท มีขนาดกว้าง ยาว สูง แต่ละด้านไม่เกิน 2 เมตร รวมกรอบและฐาน

2. ผู้มีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าประกวด

  • ศิลปินสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และไม่เกิน 25 ปี ( เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2541 ถึง ปี พ.ศ. 2550 ) ในปีที่จัดการแสดง มีสิทธิ์ส่งผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยความคิดและฝีมือของตนเข้าร่วมการแสดงและประกวดการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยได้รับรางวัลและร่วมแสดงจากการประกวดอื่นใดมาก่อน ยกเว้น การนำไปแสดงในรูปแบบการศึกษาทุกระดับ ซึ่งเป็นข้อกำหนดการสำเร็จการศึกษาทุกระดับ
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่รับผลงานฯ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเข้าประกวดทุกกรณีผู้มีสิทธิ์ส่งงานต้องไม่นำผลงานฯ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ในกรณีมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ผู้มีสิทธิ์ส่งผลงานฯ ต้องรับผิดทางแพ่งและอาญา โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรไม่มีส่วนร่วมการทำความผิดนั้น ทั้งนี้หากผู้ส่งผลงาน ส่งผลงานผิดประเภทคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินมีสิทธิ์ไม่พิจารณาผลงานนั้น

3. การส่งผลงาน

ศิลปิน 1 ท่าน มีสิทธิ์ส่งผลงานได้ ไม่เกิน 2 ชิ้น โดยในการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์  ครั้งที่ 39  จะคัดเลือกผลงานในรอบแรกผ่านภาพถ่ายของผลงาน เมื่อคณะกรรมการได้คัดเลือกผลงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ศิลปินนำผลงานจริงที่ผ่านการคัดเลือกมาส่ง  เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกผลงานให้ เข้าร่วมแสดง และพิจารณาตัดสินรางวัล ต่อไป โดยมีรายละเอียดการส่งผลงาน ดังนี้

  • ผู้เข้าร่วมประกวดต้องส่งภาพถ่ายของผลงานเข้าร่วมการประกวดทางออนไลน์ที่เว็บไซต์  http://www.national-art-exhibition.su.ac.th  โดยภาพถ่ายผลงานแต่ละภาพต้องเป็นภาพถ่ายจริง   ของผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว มีความละเอียดไม่น้อยกว่า 300 DPI และมีขนาดไม่ต่ำกว่า 2 MB ต่อภาพ ประเภทของภาพต้อง  เป็นไฟล์ JPEG หรือ PNG โดยมีรายละเอียดการส่งผลงาน ดังนี้
  • ผลงาน 2 มิติ ผลงานศิลปกรรม 1 ชิ้น ส่งภาพถ่ายที่ประกอบด้วย
  1. ภาพเต็มของผลงาน 1 ภาพ
  2. ภาพถ่ายรายละเอียดผลงาน ไม่เกิน 4 ภาพ
  • ผลงาน 3 มิติ   ผลงานศิลปกรรม 1 ชิ้น (ชุด) ส่งภาพถ่ายที่ประกอบด้วย
  1. ภาพเต็มของผลงาน 1 ภาพ
  2. ภาพถ่ายแต่ละด้านของผลงาน 4 ด้าน (ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง)

* ในกรณีที่มีวิดีโอประกอบเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน หรือวิดีโอที่แสดงรายละเอียดเพิ่มเติมของผลงาน สามารถส่งเข้ามาร่วมพิจารณาได้โดยมีรายละเอียดดังนี้
– วิดีโอคลิปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาของผลงานได้อย่างครบถ้วน ไม่จำกัดความยาว
– วิดีโอคลิปที่แสดงรายละเอียดเพิ่มเติมของผลงาน ความยาวไม่เกิน 1 นาที โดยบันทึกเป็นไฟล์ MPEG หรือ MP4
– ส่งลิงค์ของวิดีโอคลิปได้โดยการอัพโหลดผ่านเว็บไซต์ระบบ cloud (dropbox หรือ google drive) หรือ เว็บไซต์ที่รองรับการแสดงผลวิดีโอ (เช่น youtube) และตั้งค่าเป็นสาธารณะ

ทั้งนี้ ภาพผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่ใช่ภาพที่สร้างหรือผ่านการตกแต่งจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หากเป็นภาพที่สร้างหรือตกแต่งจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทางมหาวิทยาลัยฯสามารถพิจารณาตัดสิทธิ์ได้ทันที

  • กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มการรับสมัคร โดยศิลปินจะต้องกรอกชื่อ นามสกุล ที่อยู่ พร้อมรายละเอียด และแนวคิดของผลงานรวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในเว็บไซต์ที่ระบุ
  • หากผลงานศิลปกรรมผ่านการคัดเลือกในรอบแรกให้ถือว่าผลงานนั้น ๆ ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงศิลปินต้องนำผลงานจริงมาส่ง ณ สถานที่รับผลงาน เพื่อนำมาคัดเลือกและตัดสินรางวัลต่อไป

กรณีเป็นผลงาน 3 มิติ หรือผลงานที่มีการติดตั้ง ศิลปินต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับติดตั้งและนำผลงานมาติดตั้งให้เป็นที่เรียบร้อยภายในช่วงเวลาที่กำหนด พร้อมแนบหรือเขียนอธิบายรายละเอียดวิธีการติดตั้งผลงานให้ชัดเจนมาด้วย โดยศิลปินจะต้องปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่รับผลงานกำหนด

  • หากผลงานจริงที่นำมาส่งหรือติดตั้ง มีขนาดเกินกว่าที่ได้ระบุไว้ในประกาศ เจ้าหน้าที่รับผลงานมีสิทธิ์ในการตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมแสดงและพิจารณารางวัลและหากพบว่าผลงานจริงที่นำมาส่งหรือติดตั้งไม่ตรงตามภาพถ่ายที่ได้คัดเลือกในรอบแรก กรรมการมีสิทธิ์ในการพิจารณาคัดผลงานออก
  • ผลงานที่จะส่งเข้าร่วมในการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 39 จะต้องมีความมั่นคง มี โครงสร้างที่แข็งแรงเหมาะสมกับการติดตั้ง การเคลื่อนย้าย การจัดแสดงนิทรรศการและการจัดเก็บ ทางมหาวิทยาลัยฯขอสงวนสิทธิ์ในการนำผลงานไปแสดงฯ ณ ที่ต่างๆ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลงาน
  • ศิลปินที่ส่งผลงานจะได้รับสูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 39 ท่านละ 1 เล่ม สามารถมารับด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นมารับแทนได้ (ใช้สำเนาบัตรของศิลปินและผู้มารับแทนพร้อมเซ็นชื่อกำกับ) กำหนดการรับสูจิบัตร สามารถมารับได้ ภายใน 3 เดือน นับจากวันที่การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 39 ในส่วนกลางแล้วเสร็จ

4. คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสิน

มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ครั้งที่ 39 ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศิลปะจากสาขาต่างๆ มาเป็นคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสิน ดังนี้

       1. อาจารย์นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์                                    กรรมการ
       2. อาจารย์อรรฆย์ ฟองสมุทร                                        กรรมการ
       3. รองศาสตราจารย์กันจณา ดำโสภี                            กรรมการ
       4. รองศาสตราจารย์วิรัญญา ดวงรัตน์                          กรรมการ
       5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิกร คงคา                              กรรมการ
       6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร         กรรมการ
       7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ       กรรมการ
       8. นางสาวอิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์                                   กรรมการ
       9. ผู้อำนวยการหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร           กรรมการและเลขานุการ

หมายเหตุ        คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสิน จะเป็นผู้พิจารณาผลงานเข้าแสดงและพิจารณาให้รางวัลแก่ผลงานที่มีคุณค่าเหมาะสมโดยไม่แยกประเภทศิลปกรรมตามที่ได้กำหนดไว้ใน ข้อ 1 คณะกรรมการมีสิทธิ์ตัดสินให้รางวัล หรืองดรางวัลใดก็ได้ นอกจากนี้คณะกรรมการฯจะคัดเลือกผลงานศิลปกรรมที่มีคุณค่าแต่ไม่ได้รับรางวัลให้เข้าร่วมแสดงอีกจำนวนหนึ่งได้ อนึ่ง การตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินถือว่าเป็นที่สุด จะอุทธรณ์มิได้

5. รางวัล
คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสิน จะไม่แยกประเภทของผลงานศิลปกรรมแต่จะถือเอาคุณภาพของผลงานเป็นเกณฑ์การตัดสิน  โดยกำหนดรางวัล ดังนี้

      5.1 รางวัลเกียรตินิยม ยอดเยี่ยมเหรียญทอง “ศิลป์ พีระศรี”                         1         รางวัล
      (Silpa Bhirasri Gold Medal Award)  และเงินรางวัล                    100,000          บาท

      5.2 รางวัลเกียรตินิยม เหรียญเงิน “ศิลป์ พีระศรี”                                         9          รางวัล
      (Silpa Bhirasri Silver Medal Award) และเงินรางวัล                     70,000           บาท

รางวัลสนับสนุนศิลปินรุ่นเยาว์
      (Special  Awards)  และเงินรางวัล รางวัลละ                                  40,000            บาท
      (จำนวนรางวัลขึ้นอยู่กับผู้ให้การสนับสนุน)
หมายเหตุ    ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลหรือร่วมแสดง จะได้รับเกียรติบัตรทุกท่าน

6. กรรมสิทธิ์ของผลงานที่ได้รับรางวัล และลิขสิทธิ์การเผยแพร่

  • ผลงานศิลปกรรมที่ได้รับรางวัลเกียรตินิยม ยอดเยี่ยม เหรียญทอง “ศิลป์ พีระศรี” และรางวัลเกียรตินิยม เหรียญเงิน “ศิลป์ พีระศรี” จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรโดยหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร มีสิทธิ์ในการดูแลและจัดการผลงาน รวมถึงเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและเชิงพาณิชย์
  • ผลงานศิลปกรรมที่ได้รับรางวัลสนับสนุนจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานหรือผู้ที่ให้รางวัลสนับสนุน
  • ผลงานศิลปกรรมทุกชิ้นที่ส่งเข้าร่วมแสดงในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากรสามารถเผยแพร่ภาพผลงานในรูปแบบของสูจิบัตร สิ่งพิมพ์ รวมทั้งสารสนเทศสมัยใหม่ทุกประเภทโดยไม่ต้องขออนุญาต และไม่มีค่าลิขสิทธิ์
  • หากปรากฏว่าผู้สมัครไม่ปฏิบัติตามกฎและข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ ผู้สมัครไม่มีสิทธิ์อ้างว่ากระทำผิดเพราะอ่านกติกาไม่ครบถ้วน มหาวิทยาลัยศิลปากร มีอำนาจในการตัดสิทธิ์ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด

7. กำหนดเวลา

  • การส่งภาพถ่ายผลงานพร้อมใบสมัครในระบบออนไลน์ 
          วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 ถึง วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2566 ทางระบบออนไลน์
  •  การคัดเลือกภาพถ่ายผลงานรอบแรก
          วันเสาร์ที่ 8 กรกฏาคม  2566
  • ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดง เพื่อพิจารณารางวัล
          วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2566
  • การส่งผลงานจริง
          วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม ถึง วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
  • การคัดเลือกและตัดสินผลงาน
          วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
  • ประกาศผลการตัดสิน   
          วันพุธที่  9 สิงหาคม 2566
  •  การแสดงนิทรรศการในส่วนกลาง
         กันยายน ถึง ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
  • การแสดงนิทรรศการในส่วนภูมิภาค
    – เมษายน 2567                     ณ หอศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา (ห้องศิลปะนิทรรศน์) จังหวัดชลบุรี
    – มิถุนายน-กรกฎาคม 2567   ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี
    – กรกฎาคม-สิงหาคม 2567   ณ หอเปรมดนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา จังหวัดสงขลา หรือ ณ หอศิลป์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา
    – กันยายน-ตุลาคม 2567        ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
    – พฤศจิกายน-ธันวาคม 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
    – มกราคม 2568                      ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
    – กุมภาพันธ์ 2568                  ณ หอศิลป์พระพิฆเนศวร คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

หมายเหตุ
– มหาวิทยาลัยศิลปากรขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดเลือกผลงานเพื่อไปแสดงทั้งในกรุงเทพฯ และในส่วนภูมิภาคในส่วนของผลงานที่ไม่ได้รับการคัดเลือกให้ไปแสดงฯเจ้าหน้าที่ฯจะดำเนินการติดต่อศิลปินเพื่อให้มารับผลงานคืนทันที
– การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์สัญจรในจังหวัดสงขลาจะสลับการแสดงงานระหว่างสถาบันในทุกปี

  • การรับงานคืน
    ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมแสดงแต่ไม่ได้สัญจรไปยังส่วนภูมิภาค
    1. ศิลปินสามารถมารับผลงานคืนได้ในวันเวลาราชการภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากการแสดงนิทรรศการในส่วนกลางแล้วเสร็จ
    2. เจ้าหน้าที่ฯจะแจ้งให้ทราบทันทีที่ผลงานกลับมา โดยจะส่งข้อความให้ทราบตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้ให้ไว้ในใบสมัคร

       ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมแสดง  และได้สัญจรไปยังส่วนภูมิภาค
       1. ศิลปินสามารถมารับผลงานคืนได้ในวันเวลาราชการภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากส่วนกลางได้ดำเนินการตรวจสอบผลงานที่ส่วนภูมิภาคส่งกลับมาเรียบร้อยแล้ว
       2. เจ้าหน้าที่ฯจะแจ้งให้ทราบทันทีที่ตรวจสอบผลงานแล้วเสร็จ  โดยจะส่งข้อความให้ทราบตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้ให้ไว้ในใบสมัคร

  • ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกฯในครั้งนี้ ศิลปินจะไม่สามารถขอรับผลงานคืนได้จนกว่าการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 39 ในส่วนภูมิภาคจะลุล่วง  โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร จะระวังรักษาผลงานศิลปกรรมทุกชิ้นที่ส่งเข้าประกวดอย่างดีที่สุด ยกเว้น ความเสียหายอันเกิดจากโครงสร้างผลงานที่ไม่แข็งแรง หรือ เหตุอันสุดวิสัย
  • หากศิลปินประสงค์จะรับผลงานคืน แต่ไม่สามารถมารับคืนได้ตามวันและเวลาที่กำหนด ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิทรรศการศิลปะเพื่อนัดหมายวันและเวลาที่จะมารับล่วงหน้า
  • ศิลปินสามารถติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการได้จาก
    www.art-centre.su.ac.th
    su.artcentre@gmail.com
    FB: ArtCentre,SilpakornUniversity
    หรือ ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-221-3841 ระหว่างเวลา 10.00 – 16.00 น.

    การส่งและการรับคืนผลงาน ให้ดำเนินการในวันและเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 7 การแจ้งให้ศิลปินมารับงานคืนรวมถึงการติดต่อทางอื่นเช่นทางอีเมล์ และอื่นๆ หากมีการติดต่อไปให้ถือว่าศิลปินได้รับทราบข้อกำหนดนั้นแล้ว และหากศิลปินผู้เป็นเจ้าของผลงานไม่มารับคืนภายในวันและเวลาที่ได้แจ้งไว้ ให้ถือว่าศิลปินเจ้าของผลงานชิ้นนั้นยินยอมให้มหาวิทยาลัยศิลปากรมีกรรมสิทธิ์ในผลงานดังกล่าวโดยปริยาย  โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรมีสิทธิ์ดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยอาจนำผลงานศิลปกรรมทั้งหมด หรือบางส่วน ไปหารายได้เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานหรืออาจนำผลงานไปมอบให้สถาบันการศึกษาส่วนราชการหรือองค์กรต่างๆตามสมควร

มหาวิทยาลัยศิลปากรขอสงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ยกเลิกกฎและกติกาของการดำเนินงานได้ตามความเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องแจ้ง หรือได้รับอนุญาตความเห็นชอบ และความยินยอมจากผู้สมัครในทุกกรณี

CONTACT US

www.art-centre.su.ac.th
su.artcentre@gmail.com
FB:ArtCentre,SilpakornUniversity
หรือ ติดต่อ 0-3427-3331 หรือ 02-221-3841 ระหว่างเวลา 10.00 – 16.00 น.